ก่อนดูอาการเสียของเพาเวอร์ซัพพลาย และ ตัวที่เสียในวงจร มาทบทวนหลักการทำงานของ Switching Power Supply กันก่อน ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง หนึ่งอาการเสียมันมีหลายสาเหตุ ดังนั้นจึงต้องเข้าใจหลักการทำงานของวงจรประกอบการซ่อมด้วย ต้องไล่เช็คและจัดลำดับความสำคัญอุปกรณ์ที่น่าจะเสีย คือให้มุ่งเช็คตัวที่เสียบ่อย ตัวที่เสียประจำเป็นลำดับแรกๆก่อน
เมื่อใช้งานเพาเวอร์ซัพพลายผ่านไปหลายปีมันจะเสื่อมสภาพ อาการ Power Supply เสื่อมเกิดจากอุปกรณ์ในวงจรเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานโดยเฉพาะวงจรที่เน้นราคาถูกมักจะใช้อุปกรณ์เกรดกลางๆเพื่อลดต้นทุนการผลิตดังนั้นมันจะเสียเร็วกว่าวงจรที่ใช้อุปกรณ์เกรดอย่างดี ข้อดีคือมีสินค้าราคาถูกใช้ ข้อเสียก็มีคือให้วางแผนการซ่อมไว้ด้วยภายในประมาณ 2- 3 ปีหลังจากใช้งาน ( อาจเร็วกว่านี้หรือนานกว่านี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ) เพื่อยืดอายุการใช้งานของวงจร สามารถทำได้ด้วยการระบายความร้อนต้องดี และ ให้ใช้งานวงจรที่ 60-70% ของพิกัด เช่น พิกัด 10A ใช้งานจริงไม่ควรเกิน 6A - 7A เพื่อไม่ให้วงจรทำงานหนักเต็มพิกัด
ทบทวนหลักการทำงานของ Switching Power Supply
1) ด้านไฟเข้า เริ่มจากไฟ AC 220V เข้ามาผ่านไดโอดบริดจ์ จากนั้นเก็บไฟนี้ไว้ที่ C ฟิลเตอร์ ไฟ 300V
ไฟสูง 300V นี้จะไปรอที่ขา D ของมอสเฟตเพื่อรอการสวิตชิ่ง
2) การสร้างความถี่ขับ จะมี IC PWM เป็นตัวสร้างความถี่ควบคุมสั่งให้มอสเฟต ON / OFF เร็วช้า การ ON / OFF ของมอสเฟตจะทำให้หม้อแปลงความถี่สูงสร้างแรงดันเหนี่ยวนำ โดยปริมาณแรงดันเหนี่ยวนำนี้จะมากหรือน้อยจะเปลี่ยนไปตามความถี่ควบคุมที่มาจาก IC PWM สั่งขับมอสเฟต
3) ด้านไฟออก จะมีไดโอดความถี่สูง และ C ฟิลเตอร์ด้านไฟออก
4) การป้อนกลับให้ IC PWM แรงดันไฟออกที่ได้จะมีการเช็คว่า ได้แรงดันไฟค่าตรงค่าปกติหรือไม่ ? ได้แรงดันไฟออกน้อยไป ? หรือได้แรงดันไฟออกมากไป ? โดยจะมีตัวต้านทานทำหน้าที่เช็คและป้อนกลับโดยอาศัยหลักการแบ่งแรงดัน ตัวต้านทานป้อนกลับนี้จะทำงานร่วมกับ Opto คือนำข้อมูลแรงดันไฟออกที่ได้ ป้อนกลับไปยัง IC PWM ให้ปรับความถี่ขับมอสเฟต (ขับหม้อแปลง) สัมพันธ์กับค่าแรงดันไฟด้านออก ปรับแก้แรงดันไฟด้านออกให้ได้ค่าตรง เช่น ถ้าไฟออกน้อยไป ก็ให้ IC ขับมอสเฟตขับหม้อแปลงมากขึ้นเพื่อเพิ่มแรงดันขาออก ถ้าไฟออกมากไป ก็ให้ IC ขับมอสเฟตขับหม้อแปลงน้อยลงเพื่อลดแรงดันขาออก เป็นการชดเชยแรงดันขาออก
4 อาการเพาเวอร์ซัพพลายเสีย Power Supply เสียอาการต่างๆ
1) ไม่มีไฟเลย หรือ Power Supply เสีย เปิดเครื่องไม่ติด
มีหลายสาเหตุ ให้ไล่เช็คอุปกรณ์ด้านไฟเข้าก่อนคือ
- ไดโอดบริดจ์เสีย ขาด ช๊อต ?
- C ฟิลเตอร์ไฟ 300V ขาด
- มอสเฟตขาด มอสเฟตช๊อต
- IC PWM ช๊อต หรือ เสียแบบอื่นๆ มันไม่ผลิตความถี่ขับมอสเฟต
- อุปกรณ์รอบๆ IC PWM เสีย เช่น C และ ZD
- R สต๊าทขาด R สต๊าทยืดค่า ค่ามันสูงขึ้นมาก ทำให้ไฟไปเลี้ยง IC PWM ไม่พอ IC ไม่ทำงาน
- R สต๊าทหลวม
- ซีเนอร์ ZD ใกล้ๆ IC PWM เสีย
จากนั้นให้ไล่เช็คอุปกรณ์ด้านไฟออกคือ
- ไดโอดความถี่สูงช๊อต รั่ว
- Opto เสีย
สาเหตุอื่นๆ เช่น จุดบัดกรีหลวม สวิตช์ปิดเปิดไฟ AC เสีย สายไฟขาดใน เป็นต้น
โดยให้สังเกตถ้าฟิวส์ขาด มีคราบดำๆ จะมีตัวช๊อตมีกระแสไหลเกินปริมาณมากเกิดขึ้นแล้ว เช่น ไดโอดบริดจ์ช๊อต C ฟิลเตอร์ช๊อต มอสเฟตช๊อต ให้ไล่เช็คอุปกรณ์รอบๆให้หมด เพราะกระแสไหลเกินปริมาณมากนี้จะทำให้อุปกรณ์หลายตัวเสียเป็นบริเวณกว้างเสียแบบลามไปหลายตัว
2) ติดแล้วดับ Power supply เปิดติดแล้วดับ
มีไฟเข้ามาแล้วแต่มีตัวเสียตัวเสื่อมอยู่ในวงจร วงจรจึงตัดการทำงานเพื่อป้องกันวงจรเสียหายหนัก
ให้ไล่เช็คอุปกรณ์ดังนี้
- R ทริมเมอร์ตรงจุดไฟออกเสีย
- R ป้อนกลับใกล้ๆ Opto ขาด ยึดค่า หลวม ส่งผลให้ IC PWM ตีความหมายว่ามีไฟผิดปกติที่ด้านไฟออกจึงสั่งหยุดขับมอสเฟต
- Opto ขาด ช๊อต รั่ว ส่งผลให้ IC PWM ตีความหมายว่ามีไฟผิดปกติที่ด้านไฟออกจึงสั่งหยุดขับมอสเฟต
- IC Error Amp เสีย ( บางวงจรจะไม่มี IC ตัวนี้ )
- ZD ซีเนอร์ไดโอดที่ทำหน้าที่เช็คแรงดันเกินด้านไฟออกเสีย
- อุปกรณ์ป้องกันเสีย เช่น อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เช็คกระแสเกินคือ R ค่าต่ำๆ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เช็คแรงดันเกิน เช่น ZD SCR
3) ติดดับ ติดดับ สลับกัน
แสดงว่ามีไฟเข้ามาแล้วแต่มีตัวเสียอยู่ในวงจร ให้ไล่เช็คอุปกรณ์ดังนี้ โดยมุ่งไปที่อุปกรณ์ด้านไฟออกเป็นลำดับแรก
- ไดโอดความถี่สูงช๊อต รั่ว
- C ฟิลเตอร์ด้านไฟออกรั่ว มันจะอยู่ใกล้ ๆ ไดโอดความถี่สูง
- R ป้อนกลับขาด / ยืดค่า
- R ทริมเมอร์เสีย
- Opto เสียช๊อต รั่ว
- IC Error Amp เสีย
- R เซนเซอร์ ที่เช็คกระแสเกินยืดค่า ทำให้วงจรป้องกันทำงานเร็ว มองว่ามีกระแสเกินในวงจร จึงตัดการทำงาน
- อุปกรณ์บางตัวด้านไฟออกเสื่อมสภาพแล้ว เมื่อทำงานที่กระแสสูงๆ แรงดันสูงๆกว่าภาวะปกติ มันแสดงอาการลักษณะเสีย
4) ไฟออกต่ำ
แสดงว่ามีไฟเข้าวงจรแล้วแต่มีอุปกรณ์บางตัวเสียอยู่ โดยเริ่มไล่เช็คจากอุปกรณ์ด้านไฟออกก่อน จากนั้นย้ายมาเช็คอุปกรณ์ด้านไฟเข้า
- C ฟิลเตอร์ด้านไฟออกเสีย C ค่าลดมาก
- Opto เสีย ช๊อต ( บางวงจรจะมี IC Error Amp เสีย )
- หม้อแปลงความถี่สูงช๊อตรอบบางส่วน แรงดันเหนี่ยวนำจึงออกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
- C ฟิลเตอร์ด้านไฟเข้า หรือ C ไฟ 300V เสีย
- IC PWM ช๊อต ไม่ผลิตความถี่ขับมอสเฟต หรือ ทรานซิสเตอร์
- มอสเฟต / ทรานซิตเตอร์ รั่ว
- R เซนเซอร์วัดกระแสค่ายืด วงจรป้องกันมองว่ามีไฟเกินอยู่ วงจรส่วนอื่นๆจึงไม่ทำงาน
เลือก หัวข้อ / เรื่อง อ่านเพิ่ม
การวัดมอสเฟต วิธีวัดมอสเฟต MOSFET